เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ในพม่า
การปฏิรูปที่เกิดและพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและมีพลวัตรของประเทศพม่า นับจากการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2010 นำพามาซึ่งกระแสความตื่นตัวในการสานสัมพันธ์กับประเทศนั้นโดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งนักธุรกิจไทยในระดับ SME จำนวนไม่น้อยก็ตกอยู่ภายใต้กระแสแห่งการตื่นตัวนี้ กระนั้นก็ดี การเข้าไปเปิดธุรกรรมใหม่ในประเทศที่เพิ่งจะปฏิรูปและเปิดตัวสู่ระบบสากล ย่อมมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ผู้ประสงค์จะลงทุนจึงจำเป็นต้อง "บริหารความเสี่ยง" หากแต่จะบริหารให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องมีข้อมูลพื้นฐานเพียงพอ ความจำเป็นดังกล่าวจึงเป็นที่มาของหนังสือ"เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในพม่า"
ธุรกิจไทยจะก้าวอย่างไรในยุค AEC
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) จะทำให้อาเซียนเป็นที่สนใจ มีบทบาทและอำนาจต่อรองมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลกแบบเดียวกับสหภาพยุโรป (EU) ด้วยตลาดที่มีขนาดประชากรกว่า 580 ล้านคน มากกว่าทั้งสหภาพยุโรป มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถึงแม้จะมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับเพียงเกาหลีใต้ แต่เป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกันคิดเป็นอันดับสองของโลก
Taking on climate change: ธุรกิจไทยต้องปรับตัวอย่างไร
เชื่อหรือไม่ว่าไทยจัดอยู่ในประเทศกลุ่มเสี่ยงสูงสุดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือที่เรียกว่า climate change อีกทั้งยังเป็นตัวการสำคัญในการก่อปัญหาด้วย โดยนอกจากไทยจะติดอันดับในทั้งหมด 16 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดจากผลกระทบของ climate change ในช่วง 30 ปีข้างหน้าแล้ว ไทยยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 25 ของโลกอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น กรุงเทพฯ ยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในปริมาณที่เกือบเท่ากับลอนดอนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าถึงเกือบ 10 เท่า!
ธุรกิจควรปรับตัวอย่างไรต่อแนวโน้มที่เปลี่ยนไปในตลาดแรงงานไทย ?
แรงงานมีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย อุตสาหกรรมไทยจำนวนมากยังคงพึ่งพิงแรงงานที่ค่าแรงถูก แต่ลักษณะตลาดแรงงานไทยกำลังจะเปลี่ยนไป ค่าแรงราคาถูกนี้กำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้น ภาคธุรกิจควรปรับตัวอย่างไร?
Retail landscape change : โอกาสค้าปลีกไทยในบริบทใหม่
รูปแบบการดำเนินธุรกิจค้าปลีกของไทยมีแนวโน้มพัฒนาไปตามกระแสโลก ช่องทางการขายที่มีแนวโน้มเติบโตสูงและต้องจับตามองคือ การขายผ่านอินเตอร์เน็ตซึ่งคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยสะสมราว 8% ต่อปี ในอีก 5 ปีข้างหน้าตามการเพิ่มจำนวนของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้ค้าปลีกโดยเฉพาะรายใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการขายสินค้าออนไลน์เป็นช่องทางเสริมมากขึ้น ขณะเดียวกันการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของผู้ใช้บริการ social network ก็ทำให้มีการสื่อสารและทำการตลาดกับลูกค้าผ่านช่องทางนี้ด้วยอีกทางหนึ่ง
ธุรกิจจะเดินอย่างไรในยุคสื่อสังคมออนไลน์
แม้สื่อสังคมออนไลน์จะยังไม่ครอบคลุมผู้ใช้จำนวนมากเหมือนโทรทัศน์ วิทยุ แต่เป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เร็วและตลอดเวลา อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า สื่อสังคมออนไลน์ยังถูกจำกัดด้วยจำนวนคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตของไทยซึ่งมีสัดส่วนเพียง 27% ในขณะที่ 92% ของครัวเรือนมีสื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ อย่างไรก็ตาม สำหรับการเข้าถึงผู้บริโภคของธุรกิจนั้น สื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ยังคงเสียเปรียบสื่อสังคมออนไลน์ในเรื่องของความรวดเร็วเพราะธุรกิจสื่อสารถึงผู้บริโภคได้โดยตรงทันที เรื่องของความตลอดเวลาเพราะเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ และเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่ายที่แทบไม่ต้องใช้งบประมาณมากนักกับการใช้บริการสื่อสังคมออนไลน์ขั้นพื้นฐาน